“ผังเมือง” คือธรรมนูญของเมืองที่จะกำหนดทิศทางในการเติบโต รวมถึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ๆ ด้วย การรับฟังความเห็นและออกแบบผังเพื่อให้เมืองตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของการวางผังเมือง อย่างไรก็ตามดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับไม่ได้รับฟังความเห็นและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งยังไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และขัดต่อพระราชบัญญัติการผังเมือง ปี 2562 นำไปสู่เสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วนที่ออกมาคัดค้าน และเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยุติร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว
เวทีแลกเปลี่ยน “ผังเมืองกรุงเทพฯ ไปต่อ…พอแค่นี้?” จึงถูกจัดขึ้นโดยสภาผู้บริโภค เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง และจัดทำเป็นข้อเสนอนโยบายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
‘ผังเมือง’ กับ ‘สิทธิผู้บริโภค’
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การวางผังเมืองกรุงเทพฯ กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย โดยยกตัวอย่างกรณีการร้องเรียนจากผู้บริโภคมากกว่า 1,000 คน เรื่องการสร้างอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนประดิพัทธ์ 23 ชุมชนรัชดาภิเษก 44 และ ชมชุนพหลโยธิน 37 ซึ่งก่อนหน้าเคยมีบทเรียนจากกรณีดิเอทัส ซึ่งชุมชนซอยร่วมฤดีลุกขึ้นมาฟ้องคดีกทม. ที่อนุญาตให้มีการสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายและให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าว แต่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการ หรือกรณีแอชตันอโศก ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น
สารี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 สภาผู้บริโภค และอีกหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง (คปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิ ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ ได้ออกมาร่วมแสดงพลังและส่งเสียงสะท้อนว่าการรับฟังความคิดเห็นเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ในการรับฟังความเห็นของ กทม. มีประชาชนจำนวนมากที่แสดงความเห็นว่า การออกแบบผังเมืองในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ของคนกรุงเทพฯ และไม่ได้สนับสนุนให้คนกรุงเทพฯ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เรื่อง ‘สิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับ แต่ในทางปฏิบัติมันไม่เกิดขึ้นเลย การมาร่วมกันคิดว่าร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้ จะได้ไปต่อ หรือต้องเริ่มใหม่ หรือจะมีทางออกอย่างไร จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้บริโภและจะเป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไปในอนาคตด้วย” สารี ระบุ
ทางด้าน ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค นำเสนอไทม์ไลน์ เรื่องผังเมือง โดยระบุว่าแทบจะไม่มีประชาชนคนไหนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมืองครั้งนี้ ไม่ได้ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และในระหว่างทางภาคประชาชนได้เข้าไปนำเสนอข้อมูล และทักท้วงแต่กลับมีไม่มีการตอบสนองจาก กทม. เพราะผังเมืองที่นำมารับฟังความเห็น ก็ยังคงเป็นผังเมืองเดิมที่ไม่ได้มีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ
“ตั้งแต่เกิดไม่เคยมีใครได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็นเลย แทบไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนที่อยู่ในชุมชนได้รับรู้เรื่องการรับฟังความเห็นด้วยซ้ำทั้งที่เขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งการระบายสีผังเมืองในปัจจุบัน เป็นการวางผังตามการเติบโตของเมือง คือมีคนรุกรานเข้าไปสร้างบ้านจัดสรร สร้างคอนโด หรือห้างสรรพสินค้าแล้ว จึงเปลี่ยนสีผังเมืองตาม ไม่ใช่การระบายสีผังเมืองตามความต้องการของชาวบ้านเพื่อวางแนวทางการเติบโตของให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น” ก้องศักดิ์กล่าว
ก้องศักดิ์ระบุอีกว่า จากการเปรียบเทียบผังเมืองปี 2556 กับปัจจุบันพบว่า กทม. ยังคงเน้นเพิ่มความหนาแน่น แออัด เข้าสู่ศูนย์กลางเมือง ทั้งยังไม่มีการปรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่น มลพิษจากฝุ่น PM 2.5 สถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่วิด – 19 รวมถึงสภาวะโรคเดือด ใช้ผังฉบับที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 มาเป็นฐานในการจัดทำร่างที่จะเตรียมประกาศใช้ในปี 2568
ก้องศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ปี 2562 กทม. มีการจัดรับฟังความเห็นเรื่องผังเมืองทั้งหมด 4 ครั้ง ทั้ง 5 ครั้งมีประชาชนเข้าร่วมทั้งหมด 11,209 คน ซึ่งไม่ได้ตัดรายชื่อซ้ำออก หากรวมเป้าหมายการลงพื้นที่ 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนสิงหาคม 2567 อีกราว 10,000 คน จะรวมเป็น 21,209 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.38 ของประชากรในกรุงเทพฯ คำถามคือ ผังเมืองที่รับฟังความเห็นจากประชากรเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 เป็นผังเมืองที่ตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้จริงหรือไม่
ด้านแคล้ว ทองสม ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินราคาที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สิ่งที่จะส่งผลกระทบมากที่สุดคือการขยายถนน 148 เส้น ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป เมื่อมีการขยายถนนสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเวนคืนที่ดิน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น สิ่งสำคัญที่รัฐต้องทำคือ การให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาก รวมไปถึงเรื่องการชดเชยเยียวยาที่ชัดเจนด้วย เช่น หากเวนคืนที่จะให้ประชาชนย้ายไปตรงไหน หรือช่วยเหลือค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำเป็นต้องมีที่แปลงใหญ่เพื่อให้พัฒนาเมืองและใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“ยกตัวอย่างในประเทศจีน เมื่อมีการปรับปรุงพัฒนาเมืองจะมีการชดเชยเยียวยาให้ โดยเพิ่มเนื้อที่ให้อีก 50 เปอร์เซ็นต์ และออกเงินช่วยสร้างบ้านให้ด้วย ทั้งนี้ บางคนอาจจะบอกว่าเขา ‘ติดที่’ ไม่อยากย้ายไปไหน ขอร้องว่าอย่าติดที่ดินเลยเพราะการใช้ประโยชน์ที่ดินจำเป็นต้องมีที่แปลงใหญ่ ๆ เพื่อให้ขึ้นตึกสูงได้ ถ้ามีจิตที่เห็นแก่กรุงเทพฯ ต้องเสียสละเพื่อให้เมืองเติบโต โดยการย้ายออกไปอยู่ชานเมือง หรือยอมขึ้นไปอยู่บนอาคารสูง” แคล้วแสดงความเห็น
‘เชื่อมโยงระบบใหญ่ เชื่อมต่อระบบย่อย’ แก้ปัญหาการเดินทางในเมือง
รศ.ดร. วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ อาจารย์ประจำสาขา วิศวกรรมขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า เมื่อพูดถึงผังคมนาคมในกรุงเทพฯ ไม่ได้คำนึงถึงแค่รถยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงการเดินทางทางน้ำ ทางอากาศ ระบบสาธารณะอื่น ๆ ทางจักรยาน และทางเดินเท้าด้วย ซึ่งนอกจากเตรียมพื้นที่ในการสัญจรแล้ว ยังต้องวางแผนเรื่องจุดตัดและจุดเชื่อมต่อด้วย สิ่งสำคัญทียังขาดในตอนนี้คือ ขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างขนส่งต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เช่น ปัญหาในปัจจุบันที่รถติดเนื่องจากมีรถแท็กซี่จอดรอรับคนอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ทำให้กินพื้นที่ถนนไป 1 เลน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะไม่ได้มีการวางแผนจัดพื้นที่ไว้ ทั้งนี้วางผังเรื่องการคมนาคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ศูนย์เสียเวลา และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร. วิโรจน์ นำเสนอข้อมูลรูปแบบการเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2560 โดยพบว่ามีสัดส่วนผู้ใช้รถยนต์ร้อยละ 43.2 รถจักรยานยนต์ร้อยละ 25.5 ในขณะที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนใช้รถสาธารณะ แต่กลับมีสัดส่วนผู้ใช้เพียงร้อยละ 20.2 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบการการลงทุนสร้างระบบสาธารณะ ดังนั้นการมีระบบขนส่งย่อยที่เชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะใหญ่ ๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีการเตรียมพื้นที่สำหรับจุดเชื่อมดังกล่าวด้วย ดังนั้นผังเมืองจึงมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจราจร
สำหรับข้อเสนอแนะ รศ.ดร.วิโรจน์ ระบุว่า มี 4 ข้อดังนี้ 1. เพิ่มโครงข่ายแบบตาราง กล่าวคือมีการวางผังเมืองสำหรับพื้นที่ในซอยย่อย เพื่อแก้ปัญหารถติดในซอยย่อยและการเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย 2. ควบคุมระดับผิวการจราจรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งหากควบคุมระดับผิวจราจรได้ จะช่วยประหยัดงบในการสูบน้ำออกด้วย 3. สร้างทางจักรยาน และ 4. เพิ่มความกว้างสำหรับเลนรถเลี้ยว ปาดโค้งเพิ่มรัศมีเลี้ยว เลนจักรยาน
“การวางแผนและให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุมและรองรับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ จะช่วยลดปริมาณรถยนต์ อีกทั้งยังไม่ต้องเวนคืนพื้นที่มากมายอย่างที่ กทม. เขียนไว้ในผังเมือง ช่วยประหยัดงบประมาณในการเวนคืน และทำให้ประชาชนไม่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยด้วย เราต้องวางผังเมืองเพื่อให้เกิดกรุงเทพฯ ในแบบที่เราอยากให้เป็นให้ได้ ถ้าเราพบว่ามันไม่เกิดขึ้นจริง ก็ต้องมาดูว่าเกิดจากปัญหาอะไร เพื่อแก้ไขและทำให้เกิดขึ้นได้จริงในที่สุด” รศ.ดร.วิโรจน์กล่าว
แก้ปัญหาน้ำท่วม…ต้องมีที่ให้น้ำ (เสีย) อยู่ มีทางให้น้ำไป
ด้าน รศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องการวางผังน้ำใน กรุงเทพฯ ว่าแนวคิดง่าย ๆ ของการวางผังน้ำคือ “มีที่ให้น้ำอยู่ มีทางให้น้ำไป” สิ่งที่เป็นความกังวลของคนกรุงเทพฯ คือเรื่องน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการเรื่องน้ำต้องไม่มองแค่ใน กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ต้องมองถึงภาพรวมของจังหวัดโดยรอบด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการวางแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ผ่านมาและจะเป็นต่อไปในอนาคต คือการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ
รศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงการวางแผนเรื่องผังน้ำ ก็ควรคำนึงถึงเรื่องสถานการณ์โลกรวนที่เราต้องรับมือให้ได้ ทั้งนี้การออกแบบเป็นระบบใหญ่ไม่เพียงพอต่อการวางผังน้ำของกรุงเทพฯ แต่ต้องออกแบบรายเขต หรือรายพื้นที่ ซึ่งเป็นการวางแผนการจัดการน้ำท่วมแบบ ‘เสื้อสั่งตัด’ ไม่ใช่ ‘เสื้อโหล’ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงในการวางแผนเรื่องน้ำคือเรื่องน้ำเสีย เนื่องจากปัจจุบัน ทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ คนเพิ่มมากขึ้น หนาแน่นขึ้น เราใช้น้ำ 2 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เป็นน้ำเสีย 1.6 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ดังนั้นเมื่อน้ำท่วมจะทำให้มีปัญหาน้ำเสียที่เอ่อขึ้นมาด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผังน้ำต้องมี ‘ที่ให้น้ำ (เสีย) อยู่’
สิ่งที่ กทม. ควรจะประเมินเพิ่มเติม คือ การประเมินความเปราะบางของการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เปราะบาง ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ที่คนอยู่มาก ควรถูกจัดอันดับความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการจัดการเรื่องปัญหาน้ำท่วม แม้จะท่วมน้อยกว่าพื้นที่ที่คนอยู่น้อย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการจัดการขยะ ความหนาแน่นของประชากร การจราจร พื้นที่รับน้ำ การซึมน้ำของคอนกรีต และอื่น ๆ ด้วย
ผังเมืองที่ดี ต้องเท่าทันยุคสมัย
ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) ให้ข้อมูลว่า วิสัยทัศน์กรุงเทพมหานคร เป็นแผนพัฒนาระยะยาว 20 ปี ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าและใช้ตั้งแต่ปี 2560 – 2580 อย่างไรก็ตามปัจจุบันปัจจัยที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนอย่างน้อย 2 ประการคือ หนึ่ง โรคระบาดโควิด 19 ซึ่งส่งผลต่อความแออัดในชุมชน เหตุผลประการที่สอง คือเรื่อง สภาวะโลกเดือดซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลรวมสูงขึ้นอีก 27 เซนติเมตร ซึ่งพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลริมอ่าวไทยหลายส่วน อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังกระทบต่อปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นมาก และเรื่องน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ซึ่งปัจจัยเรื่องโรคระบาดและสภาวะโลกเดือดไม่ได้ถูกระบุอยู่ในการทบทวนวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานคร ปี 2580
“นี่คือเหตุผลที่ กทม. ควรทบทวนวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครเสียใหม่ ไม่งั้นจะเป็นการ ‘ติดกระดุม ผิดเม็ด’ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน รักษาพื้นที่สีเขียวริมคลอง ลดความหนาแน่นของเมือง” ดร.วีระพันธุ์ระบุ
นอกจากนี้ ดร.วีระพันธุ์ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยชื่อว่า ‘Unequal and unjust: The political ecology of Bangkok’s increasing urban heat island’ ซึ่งพูดถึงเรื่องบริบททางการเมือง ที่ไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรมซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในกรุงเทพฯ และงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘Impact of Urban Heat Island’ ที่พูดถึงผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานมีการกล่าวถึงประเด็นที่ว่ากรุงเทพฯ ไม่สามารถควบคุมให้เจ้าของที่ดินให้คงความเป็นพื้นที่สีเขียวไปสู่การพัฒนาพื้นที่ที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดกรณีที่ส่งผลต่ออุณหภูมิผิวพื้นในเขตกรุงเทพฯ มากขึ้น
ดร.วีระพันธุ์กล่าวอีกว่า หากเราเร่งพัฒนาอาคารโดยไม่เก็บพื้นที่สีเขียวรวมถึงแม่น้ำ ลำคลองต่าง ๆ จะยิ่งทำให้เกิดผลเสยต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่าง แนวคิดเรื่อง ‘The Blue Green Corridor’ หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ซึ่งเป็นการออกแบบเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และเคยเห็นผลเป็นที่ประจักษ์จากการนำไปปฏิบัติในเขตลาดกระบังแล้ว จึงมองว่าควรนำมาปรับใช้กับพื้นที่ทั้ง 50 เขตของ กรุงเทพฯ
สำหรับข้อเสนอแนะเรื่องผังเมืองรวมเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชน ดร.วีระพันธุ์ ระบุว่า ผังเมืองรวมควรปรับปรุงให้ครบ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ โดยคำนึงถึง 3 ข้อคือ
1. การมีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงตัวแทนภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการผังเมือง ตามพ.ร.บ.การผังเมีอง ปี 2562
2. การมีมาตรการสนับสนุนและรองรับ ให้เกิด “คุณภาพชีวิตสำหรับทุกคน” โดยเสนอให้มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะกระจายอย่างเพียงพอสำหรับทุกคนมีพื้นที่รองรับระบบภูมินิเวศน์อย่างสมดุลในเขตเมือง โดยเฉพาะที่ว่างริมน้ำ ลำคลอง เพื่อลดความแออัดหนาแน่นของเมืองลง
3. ต้องมีความยืดหยุ่น โดยจัดให้มี “ผังเมืองเฉพาะ” ที่สามารถปรับเปลี่ยนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิทธิการสนับสนุนได้ตามสถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วง 5 – 10ปี ก่อนโครงการตามแผนจัดการน้ำของรัฐบาลที่ได้รับการอนุมัติแล้วเสร็จในปี 2578
ออกแบบเมืองให้ ‘เติบโต’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน
ส่วน ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงทางเลือกการเติบโตของเมือง ซึ่งหากมองในมิติของพื้นที่ เศรษฐกิจและสังคม เมืองจะต้องเติบโตไปเพื่อทุกคนที่จะพัฒนาไปในเชิงที่อยู่อาศัย การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ บริการสาธารณะ การเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจและได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเมืองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เติบโตเพื่อตึก เพื่อเพิ่มถนน แต่เมืองเติบโตเพื่อให้ทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุก ๆ มิติ
ดร.กัญจนีย์ ได้นำเสนอสถิติของเมืองต่าง ๆ ในเชิงที่อยู่อาศัย โดยเปรียบเทียบระหว่าง กรุงเทพฯ อัมสเตอร์ดัม โคเปนเฮเกน สิงคโปร์ และโตเกียว ในเรื่องสัดส่วนการมีบ้านพักอาศัยราคาไม่แพงสำหรับประชากรในเมือง จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์ ร้อยละ 80 เป็นบ้านของรัฐ ส่วนเมืองอื่นแม้ว่าไม่ใช่บ้านของรัฐทั้งหมด แต่มีการควบคุมค่าเช่าเพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่กรุงเทพฯ นั้นการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง ยังหาข้อมูลไม่ได้ จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะ ในเชิงผังเมืองอาจเพิ่มสัดส่วนที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง (Inclusionary Zoning) ในพื้นที่ที่จะถูกพัฒนา และกำหนดให้โครงการพัฒนาเอกชนใหม่ๆ จัดสรรที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงเป็นสัดส่วนหนึ่ง และใช้กองทุนที่ดินชุมชน เพื่อให้เกิดที่อยู่อาศัยที่มีราคาเข้าถึงได้ หรือการฟื้นฟูชุมชนเดิมให้เข้าถึงระบบบริการสาธารณะต่าง ๆ
หากกล่าวถึงพื้นที่สาธารณะ กรุงเทพฯ มีถนนที่เอื้อต่อคนเดินเท้าน้อย พื้นที่สาธารณะมักถูกตัดขาด กรุงเทพฯ จึงควรให้ความสำคัญกับการเดิน คืนพื้นที่บนถนนให้กับทางเท้าที่กว้างขึ้น ส่วนการขยายและเชื่อมโยงเครือข่ายพื้นที่สีเขียว ต้องดูรายละเอียดว่ามีการเพิ่มคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเมืองหรือไม่ ส่วนการปรับปรุงการเข้าถึงและคุณภาพของคลอง ควรลงทุนในโครงการทำความสะอาดและปรับภูมิทัศน์ สร้างพื้นที่สาธารณะริมตลิ่ง
“ถ้าจะทำให้พื้นที่สีเขียวมีประโยชน์ที่สุด จะต้องคำนึงถึงระบบนิเวศเมืองทั้งหมด ต้องมีการคิดเหมือนโครงข่ายจราจร คือต้องเชื่อมต่อกัน ต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีการถ่ายเทสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ได้” ดร.กัญจนีย์กล่าว
ด้านบริการสาธารณะ ดร.กัญจนีย์ มองว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพน่าจะเป็นคำตอบ และการกระจายการให้บริการ ไปสู่พื้นที่ที่ประชากรอยู่ โดยสร้างศูนย์บริการในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาศูนย์บริการส่วนกลาง และการจัดการโดยชุมชน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการวางแผนและการจัดการบริการสาธารณะ
ทั้งนี้ หากเปรียบอัตราส่วนของพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม หรือ OSR (Open Space Ratio) ในผังเมืองกรุงเทพฯ กับเมืองอื่น ๆ ยังถือว่ามีปริมาณที่น้อยอยู่ หากต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยังคงสามารถเพิ่ม OSR ได้ ส่วนอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ FAR (Floor to Area Ratio) ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าแต่ละพื้นที่อยากให้มี FAR มากน้อยเพียงใด โดยต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตมากกว่าการเพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง
“การวางผังเมืองเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน ร่างผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันในมิติเชิงพื้นที่ เศรษฐกิจ และสังคม เราสามารถเรียนรู้จากเมืองชั้นนำระดับโลก เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีสำหรับทุกคน” ดร.กัญจนีย์ กล่าว
วางผัง บนพื้นฐานความแตกต่างของ ‘พลเมือง’
รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เหตุผลที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ได้สนใจกับประเด็นผังเมืองหรือแม้จะมีการทำประชาพิจาร์ณแต่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมมากเท่าใดนัก เป็นเพราะปัจจุบันไม่มี “ธรรมนูญของเมือง” ที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและตกลงร่วมกันว่าต้องการเมืองเติบโตไปในทิศทางใด ซึ่งปัญหาที่พบคือขณะนี้ประชาชนทั่วไปไม่ทราบข้อมูลในการจัดทำผังเมืองที่จะส่งผลกระทบหรือได้รับประโยชน์อะไรจากการจัดทำผังเมือง เมื่อไม่ทราบข้อมูลอาจทำให้ไม่เกิดการตื่นตัวและปล่อยผ่าน
รวมทั้งประชาชนทั่วไปอาจมีความคิดเห็นว่าผังเมืองเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะ “การพูดเรื่องผังเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องเทคนิค” มีความสลับซับซ้อน ใช้เพียงคำศัพท์เทคนิคมาสื่อสาร ผู้ที่สื่อสารมีแค่ผู้เชี่ยวชาญที่มักจะอ้างว่ามีการศึกษาและวิเคราะห์หลายขั้นตอน จนออกแบบมาเป็นผังเมือง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผังเมืองที่ออกแบบมาแล้ว ทั้งที่กระบวนการการจัดทำผังเมืองนั้นควรรับฟังเสียงจากประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกคน ก่อนที่จะร่างแบบผังเมืองออกมา
“หัวใจสำคัญของเมือง คือ สิทธิในเมืองหรือสิทธิของทุกคนในการมีส่วนร่วม ดังที่อ็องรี เลอแฟฟวร์ (Henri Lefebvre) นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาสายมาร์กซิสต์ชาวฝรั่งเศสบอกไว้ เมื่อเราพูดถึงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง ไม่ได้แปลว่าเรามีสิทธิที่จะซื้อที่ดินและอยู่ในเมืองเท่านั้น แต่แปลว่าเรามีสิทธิที่จะเปลี่ยนเมืองให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รศ.ดร.บุญเลิศ ระบุ
ประเด็นข้างต้นเกิดจากการไม่รับฟังความคิดเห็นหรือไม่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่ม อีกทั้งยังไม่มีการแปลงสารออกมาให้แก่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้อย่างง่ายดาย แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถโต้เถียงได้โดยไม่ต้องจบคณะนิติศาสตร์หรือจำเป็นต้องเรียนกฎหมายมหาชน เพราะมีการดัดแปลงคำศัพท์เฉพาะมาสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจและทราบว่ามีผลกระทบอย่างไร กระทั่งคนทั่วไปสามารถใช้สิทธิออกเสียงได้ ส่วนนักกฎหมายมีหน้าที่แปลความต้องการของประชาชนและเขียนเป็นภาษากฎหมาย
รศ.ดร.บุญเลิศ ระบุอีกว่า ขณะนี้การออกแบบเมืองกลายเป็นการออกแบบตามต้องการของภาคธุรกิจที่จะเปลี่ยนเมืองเป็นพื้นที่ทำกำไรและเห็นเมืองมีคุณค่าในเชิงแลกเปลี่ยน แต่กลับไม่ได้นึกถึงคุณค่าด้านอื่น ๆ ซึ่งเมืองแต่ละเมืองมีความหลากหลายทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือสังคม ดังนั้น จึงไม่สามารถนำรูปแบบการพัฒนาของเมืองอื่น ๆ หรือรูปแบบของประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศพัฒนาแล้วอาจไม่ค่อยมีจำนวนคนจนมากนักจึงอาจไม่ได้มีการออกแบบที่คำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านั้น
ขณะที่ในประเทศไทยยังมีคนจนจำนวนมาก เพื่อให้เมืองมีความหลากหลายและตอบโจทย์การมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มจึงต้องคำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย อีกทั้งหากต้องการขยับขยายเมืองออกไปรอบนอกบนหลักการเมืองที่กระจุกตัวอยู่ที่เดียว จึงควรคำนึงถึงสิ่งรองรับอื่น อาทิ อุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ เป็นต้นนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็นว่าทุกคนต้องเดินทางกลับเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อทำงานหรือเพื่อศึกษาเล่าเรียนดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาฯ มหาลัยธรรมศาสตร์ ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของการวางผังเมือง คือ “ความต้องการเมืองที่เป็นธรรม” โดยผังเมืองควรออกแบบมาเพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งอาจแปลได้ว่า การออกแบบเมืองที่ทำให้เราเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมมากขึ้น แม้ผังเมืองที่ออกแบบมาอาจตอบโจทย์ความต้องการไม่ทั้งหมดแต่ผังเมืองไม่ควรซ้ำเติมวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยให้แย่ลงยิ่งกว่าเดิม