ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับเอสเอ็มเอสหลอกลวง และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำลายไม่เฉพาะเศรษฐกิจของประเทศ แต่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค บางรายถึงขั้นล้มละลาย หรือฆ่าตัวตาย ขณะที่ หน่วยงานกำกับดูแลหลักยังล้าหลังไม่เท่าทันกลลวง ไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพ และไม่รวมพลังป้องกันภัยให้ประชาชนได้อย่างเพียงพอ
เวทีเสวนาออนไลน์ “นักคิดดิจิทัล ร่วมหาทางออกแก้ปัญหามิจฉาชีพยุค 5G” ที่จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และภาคีโคแฟค ประเทศไทยนำเสนอปัญหาฉ้อโกงผู้บริโภคผ่านเอสเอ็มเอส และระบบโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้นในทุกปี และร่วมกันเรียกร้องให้ภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลเร่งบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองส่วนบุคคล พ.ศ.2562 พร้อมออกมาตรการเฉพาะ เพื่อควบคุมดูแลตรวจสอบผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัด ทั้งยังต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นข้อความเตือนให้ระวังมิจฉาชีพก่อนโอนเงิน และเร่งสร้างความตระหนักรู้เตือนภัยแก่ผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เปิดช่องทางร้องเรียนให้มากขึ้น พร้อมป้องกัน แก้ไข ระงับปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน
ดังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศทั่วโลกให้ความตระหนัก และคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดมาตรการ พร้อมเร่งแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย ทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่หน่วยงานหลักในการกำกับดูแลยังขาดมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้น ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) และธนาคารแห่งประเทศไทย
ผศ.ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย)
ผศ.ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันที่ 2 เมษายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก การเปิดเวทีครั้งนี้จึงมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความตระหนักให้คนไทยรู้ทันมิจฉาชีพในยุคดิจิทัล โดยเชื่อว่าการร่วมกับ สอบ. แอปพลิเคชัน Who’s Call และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในครั้งนี้จะช่วยรณรงค์ให้ความรู้ เพื่อคุ้มครองป้องกันผู้บริโภคไทย ทั้งยังแสดงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงพลังภาคพลเมือง ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค
ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.ระบุว่า ปัญหามิจฉาชีพยุคดิจิทัลและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบันนั้น ทำให้ สอบ.ต้องการขับเคลื่อนปัญหาดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยรั่วไหลเข้าขั้นวิกฤต โดยมีข้อมูลลูกค้าขององค์กรระดับชาติ และระดับโลก ทั้งภาครัฐและเอกชนหลุดออกมา รวมถึงการที่หลายองค์กรนำข้อมูลของลูกค้าออกมาขาย ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ให้เห็นอยู่ทุกวัน แม้ว่าโลกดิจิทัลจะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย แต่ก็นำมาซึ่งการหลอกลวง ฉ้อโกงได้เช่นกัน ดังนั้น การร่วมมือกับหลายภาคส่วนในเวทีเสวนาครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะระดมความคิดเพื่อเร่งแก้ปัญหามิจฉาชีพเหล่านี้ให้ได้อย่างเป็นระบบ
“ปี 2564 สอบ.รวบรวมคนกว่า 4,000 คนเข้าเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เดินหน้าเรียกร้องต่อมายังปีนี้ เพื่อให้ปัญหาผู้บริโภคถูกหลอกลวงในระบบโทรคมนาคมเบาบางลง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งนี้ กลโกงที่ถูกพัฒนาขึ้นก็มักก้าวนำการรู้เท่าทันของผู้บริโภคอยู่เสมอ จึงเป็นหน้าที่หลักที่ สอบ.ต้องทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันในเรื่องราวเหล่านี้โดยเร็ว ซึ่งเราต้องการเห็นแนวทางแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ เพราะที่ผ่านมาได้นำเสนอปัญหาไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงอยากให้รีบเร่งหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว” สารี กล่าว
ทั้งนี้ จากการสำรวจของฝ่ายนโยบายและนวัตกรรมของสอบ. เมื่อพฤษภาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,130 คน สามารถแบ่งปัญหาเอสเอ็มเอสในปัจจุบันออกเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.เอสเอ็มเอสกวนใจ หรือการได้รับเอสเอ็มเอสบ่อยครั้ง ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิก 2.เอสเอ็มเอสกินเงิน หรือการรับเอสเอ็มเอส หรือสมัครสมาชิกโดยไม่รู้ตัว และ 3ใเอสเอ็มเอสหลอกลวง หรือการได้รับเอสเอ็มเอสแอบอ้าง ที่ส่งมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยมักแอบอ้างหน่วยงานใหญ่ ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ที่พบบ่อยครั้งคือการกดดันให้ผู้บริโภคตอบรับ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสูญเสียข้อมูลความเป็นส่วนตัว หรือทรัพย์สิน
สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภคมักเจอกับปัญหาเอสเอ็มเอสมากที่สุดคือ เอไอเอส ร้อยละ 51.6 ลำดับต่อมาคือ ทรู ร้อยละ 36.3 ตามด้วยดีแทค ร้อยละ 31.3 และเอ็นที ร้อยละ 2.4 โดยปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจหรือกินเงิน มักถูกส่งมาในรูปแบบการเสนอข่าวสารหรือข้อมูลดูดวง ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ ส่วนเอสเอ็มเอสหลอกลวงก็มักเป็นการแจ้งว่าได้รับรางวัลหรือเชิญชวนให้ลุ้นโชค ส่งผลให้เกิดการเสียทรัพย์สิน รวมไปถึงการนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน วิตกกังวล รวมถึงสร้างความอับอายด้วย
สำหรับวิธีการแกัปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 วิธี 1.คือการกด *137 ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่ายุ่งยาก และใช้เวลา รองลงมา คือ การติดต่อคอลเซ็นเตอร์เพื่อแจ้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของแต่ละองค์กร และวิธีสุดท้าย คือ ร้องเรียนสายด่วน กสทช. ซึ่งผู้บริโภคมากถึงร้อยละ 52.6 ที่ไม่พอใจกับการติดต่อผ่าน 3 ช่องทางดังกล่าว โดยผู้บริโภคเห็นพ้องกันว่า กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่ายทุกรายอย่างเข้มงวด ในทางกลับกันก็ต้องการให้ สอบ.จัดทำข้อเสนอต่อ กสทช.ให้กำหนดแนวทางแก้ไข พร้อมเสนอมาตรการกำกับดูแล และเร่งบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จของ สอบ.สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นว่า มิจฉาชีพยุค 5G มักใช้ความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีเพื่อหลอกเอารหัส OTP ไปใช้ทำธุรกรรมด้านการเงิน จนทำให้กระทบถึงข้อมูลเครคิตบูโร ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ด้านปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างเหตุพัสดุตกค้าง ที่ผ่านมา สอบ.พยายามประชาสัมพันธ์เบอร์มิจฉาชีพที่ควรเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคได้ทราบเป็นระยะ เนื่องจากมิจฉาชีพปัจจุบันดำเนินการในรูปแบบองค์กร และมีศูนย์คอลเซ็นเตอร์อยู่ในต่างประเทศทำให้ยากที่จะติดตาม ซึ่งพบว่าเงินที่ถูกหลอกให้โอนไปที่บัญชีม้านั้นจะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นภายใน 15 วินาทีเท่านั้น และจะถูกโอนไปอีกหลายชั้น เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ บางรายไปจบที่การนำเงินเหล่านั้นไปซื้อบิทคอยน์ ทำให้โอกาสที่จะได้รับเงินคืนนั้นเป็นเรื่องที่ยาก
ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู็บริโภค ก่อนโอนเงินควรเข้าไปตรวจสอบบัญชีปลายทางได้ที่เว็บไซต์ Blacklistseller ศูนย์กลางการตรวจสอบการฉ้อโกงออนไลน์ ตรวจสอบชื่อ และเลขบัญชีก่อนซื้อขาย เพื่อป้องกันการโดนโกง หากผู้บริโภคถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือจะเลือกดำเนินการผ่านระบบออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้เช่นกัน โดยผู้เสียหายต้องรีบดำเนินการภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มโอกาสในการอายัดบัญชี ลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์
ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย
สำหรับสถิติการเกิดอาชญากรรมโลกไซเบอร์ในปัจจุบัน ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย บริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชันฮูส์คอลล์ (Whoscall) กล่าวถึงรายงานเกี่ยวกับภาพรวมมิจฉาชีพออนไลน์ในไทยและมุมมองปัญหาดังกล่าวจากทั่วโลกว่า ตลอดปี 2563 – 2564 ประเทศไทยมียอดโทรศัพท์หลอกลวงเพิ่มสูงถึงร้อยละ 270 ในขณะที่ ยอดเอสเอ็มเอสหลอกลวงมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 57 โดยรูปแบบการหลอกลวงจะมาในหลากหลายแบบ อาทิ หลอกให้ลงทุน หลอกว่ามีงานให้ทำ หลอกปล่อยเงินกู้ เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฮูส์คอลล์ ที่ช่วยระบุเบอร์โทรที่ไม่รู้จักว่ามีการเกี่ยวพันกับการหลอกลวงหรือไม่ก่อนรับสาย โดยเบอร์มิจฉาชีพเหล่านั้นจะถูกผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันฮูส์คอลล์ส่งรายงานเบอร์หลอกลวงเหล่านั้นเข้ามา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อไป
ด้านหน่วยงานที่กำกับดูแลปัญหาในประเทศไทย โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการ กสทช.กล่าวว่า ปัจจุบัน กสทช.เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบกระบวนการด้านการสื่อสาร และสร้างความเข้าใจให้เกิดระบบขายส่งข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ผู้ขายตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาการนำข้อมูลไปใช้แบบผิดกฎหมาย ที่สำคัญต้องไม่ให้ผู้ซื้อสามารถกำหนดข้อมูลผู้ส่งเอง เพราะอาจเกิดกรณีปลอมแปลงข้อมูลผู้ส่งให้เป็นหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อใช้หลอกลวงทำให้ผู้บริโภคเกิดหลงเชื่อได้
นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กสทช.กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาบัญชีขาว (white list) เพื่อให้การส่งเอสเอ็มเอสยืนยันตัวตน (OTP) ในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด หลังจากเราเข้มงวดและกวดขันเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงลดลงอย่างมาก และเมื่อช่องดังกล่าวถูกบล็อก กลุ่มมิจฉาชีพจึงหันไปใช้วิธีหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีศูนย์อยู่ในต่างประเทศแทน และใช้การโทรผ่านระบบอินเทอร์เน็ตข้ามประเทศ เพื่อให้หลีกหนีการจับกุมได้ง่าย ต้นทุนการโทรถูกลง ทั้งยังนำเทคโนโลยีมาช่วยปลอมแปลงข้อมูลที่ส่งถึงผู้บริโภคได้แนบเนียนยิ่งขึ้น ทั้งการแปลงหมายเลขโทรศัพท์ แปลงสัญลักษณ์และรูปภาพโปรไฟล์ ทำให้ กสทช. ต้องเข้าไปทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตข้ามประเทศว่า ห้ามเบอร์ต้นทางที่โทรมาจากประเทศสามารถเปลี่ยนเป็นเบอร์ภายในประเทศได้ หากพบต้องดำเนินการบล็อกทันที เพราะแสดงเจตนาที่ไม่โปร่งใส ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว รวมไปถึงการนำเบอร์ที่ยังไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ประเทศใดหากมีการนำมาใช้ก็ต้องบล็อกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กสทช. ทำได้เพียงตรวจสอบด้านกระบวนการสื่อสารเท่านั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ต้องมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาผนึกพลังร่วมกัน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเข้ามาดูระบบด้านธุรกรรมการเงินให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด โดยเฉพาะปัญหาบัญชีม้า ทั้งยังต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศเพื่อกวาดล้างจับกุมอย่างจริงจัง พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพอยู่เสมอ ทั้งยังต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงแอปพลิเคชันที่ช่วยตรวจสอบหมายเลขที่ปลอดภัย เพื่อลดปัญหาการหลอกลวง ซึ่งมีหลากหลายแอปฯ ให้เลือก และขอความร่วมมือผู้บริโภคให้ร่วมรายงานหมายเลขมิจฉาชีพ เพื่อแจ้งเตือนผู้บริโภคต่อไป
“จากอดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบและกลโกงของกลุ่มมิจฉาชีพได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้หมดไป แต่ทำอย่างไรที่จะจำกัดวงไม่ให้ระบาดจนเป็นปัญหาอย่างรุนแรง ซึ่งต้องแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ด้านการปรับเปลี่ยนข้อบังคับทางกฎหมายดังเช่นที่ต่างประเทศทำ ก็จำเป็นต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกันว่า หากปรับแล้วจะต้องปรับอย่างไร ส่วนเรื่องการบูรณาการนั้น เห็นด้วยให้มีการปรับการทำงานให้เป็นระบบโดยปกติ ไม่ใช่ตั้งเป็นการทำงานในวาระพิเศษ เพราะต้องร่วมกันแก้ปัญหาในระยะยาว และอยู่กับปัญหาพร้อมปรับปรุงแก้ไขอย่างเท่าทัน วิเคราะห์ระบบอย่างละเอียดรอบด้าน และกำหนดจุดหมายร่วมกัน เพื่อลดปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะสมที่สุด ปัญหาอีกเรื่อง คือการวางใจรัฐของภาคประชาชน หากรัฐพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบขึ้น ไม่มั่นใจว่าประชาชนจะเข้าใช้งานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาประชาชนมักใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น” นพ.ประวิทย์ กล่าว
ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค
ในขณะที่ ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวว่า มิจฉาชีพส่วนใหญ่จะใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อการหลอกลวงผู้บริโภค ทั้งช่องทางเอสเอ็มเอสและช่องทางทางโทรศัพท์ ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน และอ้างตัวเป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ แม้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลของแก๊งมิจฉาชีพเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้บริโภคบางส่วนหลงเชื่อและเปิดเผยเลขบัตรประชาชน 13 หลักและเลขที่บัญชีในที่สุด เพื่อเข้าไปโอนเงินในบัญชีหรือหลอกลวงให้โอนเงิน ซึ่งบางรายต้องสูญเสียเงินออมที่สำรองไว้ใช้ในอนาคต เมื่อสูญเสียเงินก้อนดังกล่าวก็ทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายก็มี
จากการตรวจสอบพบว่ามูลค่าทางการเงินที่เกิดจากการหลอกลวงผ่านช่องทางเอสเอ็มเอสและช่องทางโทรศัพท์รวมกันมีสูงถึงกว่า 1,000 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้รวมมูลค่าความเสียหายในช่องทางอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจช่วงขาลงอย่างมาก คำถามคือ แก๊งหลอกลวงกลุ่มต่าง ๆ ได้ข้อมูลเหล่านี้มาจากที่ใด และอย่างไร
ชลดา เสนอว่า ให้ในทุกการสมัครใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านการใส่รหัสส่วนบุคคลในขั้นตอนสุดท้ายเสมอ และเรียกร้องให้ กสทช. กำหนดมาตรการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น และจริงจังมากขึ้น รวมทั้ง เมื่อจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ควรต้องขยายผล จัดการให้ถึงต้นตอ เพื่อให้ทราบถึงช่องทางการได้ข้อมูลที่ใช้ในการหลอกลวง เพื่อให้มิจฉาชีพเหล่านี้ลดน้อยลง
“การที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีหมายเลขโทรศัพท์ของผู้บริโภคชาวไทยอยู่ในมือนั้น นอกจากเกิดขึ้นโดยการโจรกรรมแล้ว เรายังมองว่าอาจมีการขายข้อมูลเหล่านี้ออกไปด้วย จึงอยากให้มีกระบวนการตรวจสอบก่อนขายข้อมูลให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งคงต้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อกำกับดูแลอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ระบบการบล็อกเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพนั้นก็อยากให้เพิ่มกระบวนการและวิธีการในการคัดกรอง ที่สามารถแยกได้ระหว่างเบอร์ที่สุจริต และเบอร์ที่มีเจตนาที่ไม่ดี เพื่อลดโอกาสการฉ้อโกง และเมื่อทราบเบอร์ดังกล่าวแล้วก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลเพื่อจับกุมอย่างจริงจังต่อไป” ชลดา แนะ
สว่าง ศรีสม ผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ
สว่าง ศรีสม ผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เล่าถึงประสบการณ์ตรงในครั้งนี้ว่า จากที่เข้าแจ้งความ ขณะนี้คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่ได้เงินคืน ปัจจุบัน เขามักจะประสบกับปัญหาเอสเอ็มเอส และแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงอยู่เสมอ ซึ่งก่อนนี้ก็ไม่เคยหลงกล แต่กรณีล่าสุด มิจฉาชีพนำเรื่องเกี่ยวกับการมีพัสดุตกค้าง และการเข้าไปมีส่วนในคดีฟอกเงินมารวมกัน โดยกล่าวอ้างว่า เขาส่งพัสดุไปให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และเล่าเรื่องต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญมีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว โดยการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและธนาคาร เพื่อนำข้อมูลไปเปิดบัญชีเพื่อทำการฟอกเงิน ทำให้เกิดความกลัวและกังวลอย่างมาก เนื่องด้วยลักษณะงานจะต้องให้สำเนาบัตรประชาชนไปกับบุคคล หรือหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมาก และบางครั้งก็ไม่ได้ลงนามกำกับพร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ ไว้ ซึ่งเสี่ยงต่อการนำไปปลอมแปลงได้ง่าย จึงทำให้หลงเชื่อ
จากนั้นกปลายทางโอนสายให้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ โดยให้แอดไลน์คุย มีหน้าโปรไฟล์เห็นเป็นหน่วยงานตำรวจชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้คุยกับเจ้าหน้าที่ ปปง.เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลว่า เขาไม่ได้เกี่ยวพันกับการฟอกเงิน จึงเปิดเผยข้อมูลทางการเงินให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพไปด้วยความหลงเชื่อรวม 2 บัญชี แต่พอถึงบัญชีที่ 3 ปรากฏว่าสายโทรศัพท์ตัดไป เมื่อมาทบทวนว่า น่าจะมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น จึงตัดสินใจโทรกลับไปยังเบอร์ที่โทรมา ก็ไม่สามารถติดต่อได้
เมื่อมั่นใจว่าน่าจะเป็นการโทรจากกลุ่มมิจฉาชีพแน่นอน จึงได้โทรไปอายัดบัญชี แต่ธนาคารก็ให้ไปแจ้งความก่อน และต้องมีเอกสารต้นฉบับจากทางตำรวจเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งใช้เวลานาน ทำให้ล่าช้าในการได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเขาต้องใช้รถเข็น ยิ่งทำให้ใช้เวลามากกว่าคนอื่นพอสมควร และเมื่อนำเอกสารแจ้งความไปติดต่อทางธนาคารก็ได้รับข้อมูลว่า จะตรวจสอบเส้นทางการเงินให้ และแจ้งกลับตำรวจภายใน 15 วัน ซึ่งคิดว่าใช้เวลานานมากคงจะไม่สามารถตามเงินคืนมาได้แน่
“อยากแนะนำธนาคารให้ขึ้นข้อความเตือนก่อนการโอนเงินเพื่อเตือนสติเบื้องต้น และปรับปรุงขั้นตอนการอายัดบัญชีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลเพื่อมาตรวจบัญชี ซึ่งกรณีของผมพบว่า บัญชีม้าที่ใช้หลอกลวงถูกระบุให้เป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีดำอยู่แล้ว แต่ทำไมธนาคารจึงยังอนุญาตให้เปิดบัญชีได้ จึงอยากร้องขอให้ธนาคารคิดกลไกขึ้นมาช่วยตรวจสอบ อย่างน้อยก็เป็นต้นทางที่จะช่วยลดปัญหาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ข้อกำหนดที่จะต้องให้เอกสารข้อมูลส่วนตัว และเบอร์ติดต่อต่าง ๆ ก็มีโอกาสที่ข้อมูลจะรั่วไหลได้ หากการติดต่อกับภาครัฐสามารถลดการใช้เอกสารเหล่านี้ และเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น ก็น่าจะช่วยลดการรั่วไหลได้อีกทางหนึ่ง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานแบบบูรณาการก็จะช่วยลดโอกาสให้กับผู้บริโภค ที่ต้องตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพไปได้มาก” สว่าง แสดงความเห็น
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นการถูกหลอกจากมิจฉาชีพเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตื่นตัวโดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเร่งมือในการแก้ไขปัญหาให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มองว่าไทยมีความพร้อมในการรับมือทั้งด้านนโยบายของรัฐ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งจากการศึกษานโยบายภาครัฐและนโยบายสาธารณะของประเทศอื่น ๆ ที่จัดทำภายใต้ความร่วมมือของ สอบ.และโคแฟค ประเทศไทย เกี่ยวกับปัญหาการส่งข้อความสั้ นหรือโทรศัพท์ที่ไม่พึงประสงค์ก่อให้เกิดความเดือดร้อน และสร้างความรำคาญให้แก่ผู้บริโภค พบว่ามีสาเหตุ 2 กรณี คือ กรณีการส่งข้อความแบบไม่ตั้งใจ หรือเกิดจากความเข้าใจผิด และกรณีที่กลุ่มมิจฉาชีพตั้งใจกระทำเพื่อหวังผลประโยชน์โดยมิชอบ
จากการศึกษากรณีของหน่วยงานที่ดำเนินงานคล้ายกับ กสทช. ในประเทศออสเตรเลียหรือ ACMA (The Australian Communications and Media Authority) พบว่า มีการควบคุมระบบการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบโทรศัพท์เป็นการเฉพาะ ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้รับเท่านั้น จึงจะมีสิทธิส่งข้อความ และหากไม่ทำตามข้อกำหนด ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องมาที่ ACMA ได้ทันที ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจนในไทย จึงอยากเสนอให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการให้ครอบคุลมทั้งรูปแบบข้อความ และการโทรผ่านมือถือ เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งยังควรเพิ่มระบบเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังการหลอกลวง และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของภาคเอกชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและทันท่วงที โดยเฉพาะการปรับปรุงขั้นตอนการร้องเรียนให้รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น เมื่อผู้บริโภคต้องการเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะจุดอ่อนของระบบของไทยคือการทำงานแยกส่วน ทำให้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มมิจฉาชีพมีเวลาในการหลบเลี่ยงการถูกจับกุม ซึ่งการจะทำให้เกิดระบบบูรณาการในประเด็นนี้ ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางระบบที่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนในประเทศสิงคโปร์ก็มีระบบที่คล้ายกับประเทศออสเตรเลีย คือ มีการกำหนดกฎหมายควบคุมการคุกคามด้านข้อมูล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในมิถุนายน 2565
อีกหนึ่งประเทศที่มีการกำกับดูแลและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านข้อมูลและการสื่อสาร คือสหราชอาณาจักร โดยได้ตั้ง Ofcom หรือหน่วยงานที่กํากับดูแลควบคุมสื่อทั้งหมดในประเทศ พร้อมทั้งสร้างช่องทางการร้องเรียนที่สะดวกแก่ผู้บริโภค เพียงกด 7726 ที่แทนคำว่า SPAM หรือจะร้องผ่านอีเมลก็ได้เช่นกัน โดยมีการปรับปรุงข้อกำหนดให้ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในแต่ละปี เพื่อให้พร้อมกับกลโกงใหม่ ๆ อย่างเท่าทัน ที่สำคัญคือการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อเส้นทางการร้องเรียนแต่ละหน่วยงานอย่างเป็นขั้นตอน ก็สามารถช่วยลดความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และเพิ่มโอกาสการจับกุมมิจฉาชีพได้มากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับ FCC ที่เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ควบคุมการสื่อสารโดยเฉพาะ ที่ต้องดูแลวิกฤตการคุกคามผู้บริโภคผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ โดยในปี 2563 มีจำนวนมากถึง 4,000 ล้าน ซึ่ง FCC ก็จะเข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมต่อเพื่อพัฒนาระบบให้ทันกลโกงมิจฉาชีพยุคดิจิทัลอยู่เสมอ ทั้งยังสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลโกงใหม่ ๆ และขั้นตอนการร้องเรียน หากตกเป็นเหยื่อ เพื่อสร้างความพร้อมรับมือให้แก่ผู้บริโภค และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกอีกด้วย
“หากไทยสามารถนำแนวทางที่มีประสิทธิภาพของแต่ละประเทศมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมก็ถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้บริโภค ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของประเทศและผู้บริโภค ก็อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินงาน เช่น การส่งเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรที่กำลังถูกคุกคามทันที และควรมีการรายงานสถิติกรณีฉ้อโกง รวมทั้งวิธีในการล่อลวงที่ปรับเปลี่ยนไปให้ผู้บริโภครับทราบ เพื่อป้องกันการหลงเชื่อให้ได้มากที่สุด” สุภิญญา กล่าว
สุภิญญา ทิ้งท้ายว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ การบูรณาการการทำงานระบบหลังบ้านเพื่อเอื้อต่อผู้บริโภค ฝาก สอบ.นำข้อเสนอแนะดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายในการทำงานเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบมากขึ้น ท้ายที่สุด หากภาครัฐไม่สามารถดำเนินมาตรการป้องกันได้ ผู้บริโภคก็ต้องกลับมาพึ่งพาตนเอง ต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฮูส์คอลล์ หรือเพิ่มเป็นเพื่อนกับไลน์ของโคแฟค เพื่อช่วยให้ห่างไกลจากภัยของเหล่ามิจฉาชีพยุคดิจิทัล
มีธรรม ณ ระนอง รองผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า)
ด้าน มีธรรม ณ ระนอง รองผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ปัญหาการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ ถือเป็นสิ่งที่เอ็ตด้าให้ความสำคัญ และพยายามผลักดันเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2559 เอ็ตด้าตั้งศูนย์ 1212 เพื่อรับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ไม่เป็นธรรม ในปีที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนสูงกว่า 50,000 ราย ทำให้เห็นว่าแนวโน้มของการฉ้อโกงออนไลน์มีเพิ่มขึ้นทุกขณะ ทั้งยังมีมูลค่าการฉ้อโกงที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จากหลากหลายกลุ่ม โดยกลุ่มเปราะบางจะเป็นกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ
สำหรับบทบาทหน้าที่ของเอ็ตด้า มีอยู่ 3 ข้อหลักคือ 1.การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค เพื่อประกอบการตัดสินใจเพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย
2.ทำงานเชิงบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และสุดท้าย คือ พัฒนาแพลตฟอร์มรับเรื่องร้องเรียน 1212 ซึ่งต้องปรับรูปแบบอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
“ในปี 2566 เอ็ตด้าวางแผนที่จะพัฒนาระบบการติดตามความเคลื่อนไหวของเนื้อหาและประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการฉ้อโกงผู้บริโภค (social listening) และการดำเนินงานเชิงรุก เพราะถ้าไม่เร่งปรับตัวก็จะตามไม่ทันกลุ่มมิจฉาชีพ พร้อมทั้งสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วย และอยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหารือกันเพื่อแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ เมื่อเราสามารถลดโอกาสของกลุ่มมิจฉาชีพได้แล้ว เชื่อว่าความดึงดูดใจให้ฉ้อโกงก็จะเริ่มลดลง” มีธรรม ระบุ