สปน. หนุน สภาผู้บริโภค ลุยงานเพื่อประชาชน

Getting your Trinity Audio player ready...
สปน. หนุนสภาผู้บริโภค ลุยงานเพื่อประชาชน

สภาผู้บริโภค เข้าพบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หารือแนวทางความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภค ด้าน สปน. ยืนยันพร้อมสนับสนุนการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 สภาผู้บริโภค นำโดย นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค เข้าพบนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายธีรวุธ กลั่นเลี้ยง ที่ปรึกษาปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อหารือเรื่องการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน

สปน. หนุนสภาผู้บริโภค ลุยงานเพื่อประชาชน : สารี อ๋องสมหวัง

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค อธิบายโครงสร้างองค์กรและทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 โดยเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ภัยออนไลน์ ครอบคลุมการป้องกันความสูญเสียจากคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันดูดเงิน และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เมืองที่เป็นธรรม มุ่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งด้านราคาและคุณภาพ รวมถึงการออกแบบเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม และการใช้พลังงานสะอาด คุณภาพชีวิตผู้บริโภค ครอบคลุมอาหารปลอดภัย บริการสุขภาพที่เท่าเทียม และการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษา

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยกตัวอย่างโครงการที่สภาผู้บริโภคกำลังผลักดัน เช่น ระบบฟีดเดอร์ (Feeder) เชื่อมต่อรถไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกันนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าค่าโดยสาร 20 บาททุกสีทุกสาย โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และข้อกฎหมายของระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงแนวทางการพัฒนาตั๋วร่วมที่ควรครอบคลุมทุกระบบขนส่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

“ก่อนนำเสนอข้อเสนอ เราจะศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน เช่น ประเด็นหนี้ พบว่าหนี้จากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารมีดอกเบี้ยสูงและไม่มีวันจบ จึงควรกำหนดเพดานดอกเบี้ย หรือเรื่องรถไฟฟ้า เราก็ทำงานวิชาการควบคู่ไปเพื่อให้ข้อเสนอมีน้ำหนักมากขึ้น” นางสาวสารีกล่าว

สปน. หนุนสภาผู้บริโภค ลุยงานเพื่อประชาชน : ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สปน. ยินดีสนุบสนุนและทำงานร่วมกับสภาผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงการดําเนินงานของสภาผู้บริโภค ทั้งนี้ อาจมีการนัดหมายประชุมร่วมกันเป็นระยะเพื่อพูดคุยเรื่องผลการดําเนินงาน เป้าหมาย ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่อยากจะให้ สปน. ช่วยเหลือรวมถึงเรื่องการผลักดันกระบวนการการทํางาน เช่น หาก สปน. ได้มอบหมายหน่วยงานต่าง ๆ ให้ปฏิบัติภารกิจ แต่ปัจจุบันอาจจะยังได้มีการขับเคลื่อน สภาผู้บริโภคสามารถตรวจสอบและรายงานผลการดำเนินงานมายัง สปน. ได้ทันที

“สปน. พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานของสภาผู้บริโภค เช่น เรื่องกระบวนการขึ้นทะเบียนองค์กร และส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนางานวิจัย เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสะท้อนปัญหา เสนอแนวทาง เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม” นางยุพากล่าว

นางยุพา แสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นระบบขนส่งสาธารณะว่า ในฐานะคณะกรรมการบอร์ดของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แม้รัฐบาลมีนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย แต่การบูรณาการระบบยังคงมีอุปสรรค เนื่องจากโครงสร้างเจ้าของสัมปทานที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดระบบที่เอื้อต่อประชาชนมากที่สุด จึงมองว่าการทำให้เกิดตั๋วร่วมข้ามประเภท อาจทำได้ยากกว่าการทำตั๋วร่วมของระบบขนส่งสาธารณะแต่ละประเภทแยกกัน

สปน. หนุนสภาผู้บริโภค ลุยงานเพื่อประชาชน : บุญยืน ศิริธรรม

ทางด้าน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวย้ำว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง เนื่องจากทราบดีว่างบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนเพื่อมาทำงานนั้นเป็นภาษีของประชาชน และเชื่อว่าเราจะพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

“การใช้งบของสภาผู้บริโภคมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เราถามกันเองตลอดว่า ‘มีเราประชาชนได้ประโยชน์อะไร ถ้ามีเราแล้วประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่ต้องมีเราก็ได้’ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องทำตัวให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน” นางสาวบุญยืนระบุ

สปน. หนุนสภาผู้บริโภค ลุยงานเพื่อประชาชน : ธีรวุธ กลั่นเลี้ยง

ขณะที่ ธีรวุธ กลั่นเลี้ยง ที่ปรึกษาปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณสภาผู้บริโภคที่ทำเพื่อประชาชน และถือเป็นเรื่องดีที่มีสภาผู้บริโภคมาเป็นคนกลางระหว่างภาครัฐกับประชาชนอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบว่าประชาชนยังสับสนว่าสภาผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต่างกันอย่างไร หรือทำงานร่วมอันอย่างไร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์องค์กรเพื่อให้ประชาชนรับทราบและเข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงานของสภาผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สภาผู้บริโภคสามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ ทั้งยังเป็นประโยชน์กับประชาชน และสนองต่อต่อนโยบายรัฐบาลที่จะดูแลประชาชนด้วย

ทั้งนี้ เรื่องการขยายพื้นที่การคุ้มครองให้ครอบคลุมเป็นเรื่องจําเป็นสําหรับทุกพื้นที่ โดยอาจขยายเครือข่ายเพื่อให้มีองค์กรสมาชิกอย่างน้อย 1  องค์กรในแต่ละจังหวัด แล้วจึงขยายผลในเรื่องความเข้มแข็งซึ่งจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมกับทุกพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง