เมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานสภาผู้บริโภค จัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2566 โดยมี ประสาท มีแต้ม เป็นประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการกำหนดกรอบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน และการกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรอง เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการอย่างชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ทั้งที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 8(5) กำหนดให้รัฐต้องมีนโยบายในการรักษาสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมของกิจการไฟฟ้าของรัฐด้วย จึงมีมติให้ ให้สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคขอเข้าพบและหารือเพื่อเร่งรัดให้ กกพ. ดำเนินการตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญและตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคดี ในคดีที่นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการที่รัฐปล่อยให้เอกชนเข้าร่วมผลิตไฟฟ้าจนทำให้สัดส่วนกําลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่นั้น
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเป็นสิ่งที่กระทำได้ และเห็นว่าสัดส่วนหรือกำลังผลิตไฟฟ้าของเอกชนไม่ใช่โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการไฟฟ้าที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญตามมาตรา 56 วรรคสอง แม้กำลังผลิตไฟฟ้าของเอกชนจะมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 51 จึงไม่ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของในโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐลดน้อยลง การกระทำของรัฐที่ผ่านมาจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อแนะนำว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้